ขั้นตอนการวางยาสลบแบบปลอดภัย รู้ไว้ ก่อนผ่าตัด
ปรึกษามาดามวุ้นเส้น
ติดต่อ line : @pavoonsen (มี@นะคะ)
Tel: 0900420999
เวลาทำการ 11.00-20.00 น
การให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไปหรือการวางยาสลบ
เป็นเทคนิคในการทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวหลับปุ๋ย จำเหตุการณ์ไม่ได้ ไม่รู้สึกเจ็บปวดและกล้ามเนื้อคลายตัวเพื่อทำให้ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดได้ การวางยาสลบจะเริ่มจากการที่ให้ยานำสลบผ่านทาง
สายน้ำเกลือหรือการสูดดมยาสลบผ่านทางหน้ากากจากนั้นจะทำการควบคุมระดับยาสลบให้เพียงพอ ติดตามการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายพร้อมทั้งป้องกันหรือแก้ไขภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เมื่อการผ่าตัดใกล้เสร็จสิ้นจะทำการลดระดับยาสลบ เพื่อให้ผู้ป่วยตื่นรู้สึกตัว
ตามมาตรฐานทางการแพทย์ ตามปรกติ ผู้เข้ารับการผ่าตัด จะได้รับการตรวจก่อนการผ่าตัด การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือ x-ray หรือตรวจพิเศษใด ๆ เพิ่มเติมตามแต่ประเภทของการผ่าตัดส่วนนั้น ๆ และตามการคัดกรองและวินิจฉัยจากศัลยแพทย์ อาจจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทาง สาขาอื่นๆ เช่น อายุรแพทย์ หทัยแพทย์ หลังจากประมวลข้อมูลทั้งหมดของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะได้รับการแบ่งสภาพความแข็งแรงของร่างกาย
ออกเป็นแบบต่างๆ ซึ่งจะบ่งบอกถึงความเสี่ยงของตัวผู้ป่วย ในบางกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่มีความพร้อม อาจจะต้องได้รับการเลื่อนผ่าตัด ออกไปก่อน ส่วนผู้ป่วยที่มีความพร้อมผู้ป่วยจะได้รับการแจ้งข้อมูลทั่วไปเรื่องการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดซึ่งประกอบด้วย
1. บอกประวัติ ทางด้านสุขภาพเกี่ยวกับตัวท่านเองแก่ศัลยแพทย์ และวิสัญญีแพทย์ โดยไม่มีการปกปิด เพื่อความปลอดภัย และเพื่อการเตรียมความพร้อม ในการที่แพทย์จะได้ดูแลรักษาท่านอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ อย่างถูกต้อง ซึ่งประกอบด้วย
1.1 ประวัติโรคประจำตัวที่ท่านเป็นอยู่ ซึ่งบางโรคอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายในระหว่างการให้ยาสลบได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรรอยส์ โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด ลมชักรวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาที่ได้รับ ถึงแม้ในปัจจุบันนี้จะไม่ปรากฏอาการก็ตาม
1.2 ประวัติการใช้ยา เช่น ยารักษาโรคความดัน โรคหัวใจ หอบหืด ยาเบาหวาน ยาหยอดตาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหิน เพื่อว่าแพทย์จะได้ดูแลรักษาท่านอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
1.3 การมีเลือดประจำเดือนในผู้ป่วยหญิง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เพราะการมีประจำเดือน ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลียเนื่องจากสูญเสียเลือดบางส่วน และการผ่าตัดที่ทำให้เสียเลือด แพทย์อาจจะต้องเลื่อนการผ่าตัด หรือแล้วแต่คำวินิจฉัยของแพทย์ ว่าสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ เพราะการผ่าตัดบางตำแหน่ง มีผลกระทบในเรื่องนี้
1.4 ประวัติการแพ้ยา เคยรับประทานยา ฉีดยาชนิดใด แล้วมีการอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นขึ้นตามตัว หน้ามืด เป็นลม หรือ มีอาการช็อค เป็นต้น
1.5 ประวัติการได้รับยาสลบครั้งก่อน แล้วมีปัญหา เช่น คลื่นไส้อาเจียนมาก, ตัวเหลืองหลังดมยาสลบ
1.6 ประวัติการตั้งครรภ์ ควรบอกให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่าท่านกำลังตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าอาจกำลังตั้งครรภ์ขณะที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
1.7 ประวัติการเสียชีวิตขณะเข้ารับการผ่าตัด ที่ไม่ทราบสาเหตุ ของญาติพี่น้องสายตรง เพราะอาจเป็นโรคทางพันธุกรรม ที่มีผลกระทบต่อยาดมสลบได้
1.8 ประวัติการได้รับอุบัติเหตุ การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่
2. การเตรียมตัวของผู้ป่วยเอง ท่านจะต้องเตรียมตัวดังนี้
2.1 ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนการเขารับการผ่าตัด อย่างน้อย 6-8 ชม ให้งดอาหารและน้ำทุกชนิด จำเป็นต้องงดอาหารประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง ก่อนเข้าห้องผ่าตัดเพื่อป้องกัน การสำลักอาหารเข้าปอด ซึ่งจะทำให้เกิดปอดอักเสบ และ เป็นอันตรายถึงเสียชีวิต
2.2 ห้ามแม้แต่เคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมเด็ดขาด
2.3 อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ไม่ทาแป้ง ไม่ทาลิปสติก สระผม ตัดเล็บ ล้างสีเล็บออกให้เรียบร้อย และปฏิบัติตาม คำแนะนำของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเรื่องการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดที่โรงพยาบาลจัดไว้ให้ตามประเภทของการผ่าตัด สวมชุดที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ ถอดชุดชั้นในออกด้วย
2.4 ถอดเครื่องประดับ เช่น ตุ้มหู สร้อยคอ ตุ้มที่ใส่ลิ้น กิ๊บติดผม ผ้ายันต์ พระเครื่อง แหวน คอนแทคเลนส์ เพราะเครื่องประดับที่เป็นโลหะจะมีปัญหากับอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องผ่าตัดและอาจเกิดแผลไฟไหม้บริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับเครื่องประดับโลหะได้
2.5 ของมีค่าต่างๆ ไม่ควรนำติดตัวไปห้องผ่าตัด ควรฝากไว้ที่ญาติ หรือ เก็บในตู้เซฟที่ทางโรงพยาบาลจัดไว้ให้ เพื่อป้องกันการสูญหาย ฟันปลอมควรถอดออกก่อนเข้าห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันการหลุดลงไปในหลอดลมขณะดมยาสลบ
ท่านจะพบอะไรบ้างเมื่อมาถึงห้องผ่าตัด
1. ท่านจะพบวิสัญญีแพทย์ หรือวิสัญญีพยาบาล และทีมงานผ่าตัด ที่คอยท่านอยู่ ท่านจะถูกถามชื่อ นามสกุลอีกครั้งหนึ่ง และตรวจสอบให้ตรงกับตารางผ่าตัดในวันนั้น เพื่อป้องกันการให้ยาสลบ และผ่าตัดผิดคน ขณะเดียวกันจะถามประวัติเจ็บป่วย โรคประจำตัว ตลอดจนการงดอาหาร และน้ำดื่มอีกครั้งหนึ่ง
2. ท่านจะได้รับการตรวจสอบการให้น้ำเกลือ เข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งปกติจะให้ทางด้านหลังมือหรือเหนือข้อมือ
3. เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ท่านจะถูกนำเข้าไปในห้องผ่าตัด ท่านจะได้รับการวัดความดัน จับชีพจร ตรวจคลื่นหัวใจ และฟังเสียงหายใจ
4. วิสัญญีแพทย์ และพยาบาลจะฉีดยา เข้าทางสายน้ำเกลือให้ท่านหลับ และสลบไป ซึ่งจะทำให้ท่านหลับสบาย ไม่รู้สึกตัวตลอดการผ่าตัด แต่จะมีวิสัญญีแพทย์และพยาบาลเฝ้าสังเกต และช่วยเหลือท่านตลอดเวลาให้อยู่ในสภาวะที่ปลอดภัยที่สุด จนกว่าการผ่าตัดจะเสร็จสิ้น
5. หลังผ่าตัดท่านอาจจะยังไม่รู้สึกตัวเต็มที่ จะต้องได้รับการดูแลต่อในห้องพักฟื้นจนกว่าจะฟื้นตื่นดี สัญญาณชีพอยู่ในภาวะปกติ ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน แผลผ่าตัดเรียบร้อยดี ไม่มีเลือดออก เป็นต้น หลังจากนั้นท่านก็จะถูกนำตัวกลับตึกผู้ป่วยเดิม และจะได้รับการดูแลต่อโดยศัลยแพทย์ และพยาบาลประจำตึกผู้ป่วย
เครื่องดมยาสลบและอุปกรณ์ติดตามระบบการทำงานของร่างกายระหว่างการผ่าตัด
การให้ยาระงับความรู้สึกเป็นเทคนิคทางการแพทย์ที่ ต้องทำโดยวิสัญญีแพทย์ที่มีความชำนาญและต้องมีอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานสามารถวัดระดับความรู้สึกทุกอย่างได้อย่างแม่นยำ ระบบการตรวจสอบการตอบสนองของร่างกาย ระบบการเตือนภัย ตัวอย่างอุปกรณ์ทางวิสัญญีเช่น เครื่องดมยาสลบและเครื่องช่วยหายใจจะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยควบคุมการให้ออกซิเจน ยาดมสลบแก่คนไข้โดยมีอุปกรณ์การควบคุมระดับการไหลออกของก๊าซต่างๆอย่างถูกต้องเพื่อให้ระดับยาสลบสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วทำให้การควบคุมระดับการสลบได้
อุปกรณ์ติดตามระบบการทำงานของร่างกาย จะเป็นตัวบอกถึงสภาพระบบต่างๆของร่างกาย การตอบสนองของร่างกายต่อยา ระดับความลึกของการสลบ อุปกรณ์ดังกล่าวจะมีการตั้งระบบเตือนภัยเมื่อเกิดมีความผิดปกติเกิดขึ้นทำให้ทีมงานสามารถทราบเหตุการณ์อย่างทันท่วงทีเช่นเมือคนไข้เริ่มมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นแสดงว่าผู้ป่วยอาจมีระดับยาสลบต่ำเกินไปหรือเป็นอาการตอบสนองจากการสูญเสียโลหิต เป็นต้น
ดังนั้นเครื่องดมยาสลบและอุปกรณ์ติดตามระบบการทำงานของร่างกายของโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานจะมีการบำรุงรักษาตลอดเวลาเพื่อให้สามารถใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ท่านควรศึกษาสถานพยาบาลก่อนตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ ให้ถี่ถ้วนนะค๊ะ
ขอขอบคุณข้อมูลวิชาการจาก กลุ่มงานวิสัญญีแพทย์ และโรงพยาบาลศรีวิชัย 2 โรงพยาบาลยันฮี