ภาวะกะบังลมหย่อน ที่ทำให้เกิดปัสสวะเล็ด urinary incontinence
ปรึกษามาดามวุ้นเส้น
ติดต่อ line : @pavoonsen (มี@นะคะ)
Tel: 0900420999
เวลาทำการ 11.00-20.00 น
เครดิตภาพ Victoria Secret
บทความทางวิชาการ : สาเหตุ อาการ อาการแสดง การตรวจ วินิจฉัย และการรักษา
urinary incontinence การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือกระบังลมหย่อน
สาเหตุ
ภาวะกะบังลมหย่อนเป็นผลเกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อค้ำจุนและกล้ามเนื้อของพังผืดและเอ็นต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติแต่กำเนิด หรือการคลอดบุตรยาก มีการฉีกขาดของฝีเย็บ จากการคลอดบุตรที่ต้องใช้เครื่องมือช่วย มีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อระหว่างทวารหนักกับโคนอวัยวะสืบพันธุ์ หรือปากช่องคลอด จากการเบ่งที่เป็นอยู่นาน ๆ (เช่นในภาวะท้องผูกเรื้อรัง) หรือภาวะอ้วน ปัญหาเกี่ยวกับการไอเรื้อรัง (เช่น ในภาวะปอดอักเสบ ถุงลมโป่งพองเรื้อรัง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง) ภาวะเบาหวานที่มีการทำลายของระบบประสาท (diabetic neuropathy) ส่วนมากพบในสตรีที่มีบุตรมาก หรือมีประวัติการคลอดยาก และมักเกิดในสตรีที่มีอายุค่อนข้างมากหรือวัยหลังหมดระดู
อาการและอาการแสดง
แบ่งได้ตามอาการดังต่อไปนี้
1. อาการที่ไม่เกี่ยวกับการถ่ายปัสสาวะ
1.1 รู้สึกแน่นและบวมในช่องคลอด เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด ยิ่งระยะเป็นมากขึ้นก็มีความรู้สึกมากขึ้นตามลำดับ
1.2 รู้สึกถ่วงหรือหน่วงในอุ้งเชิงกราน เนื่องจากมีการดึงรั้งของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ผู้ป่วยมีความรู้สึกอยากเบ่งให้ก้อนนั้นหลุดออกมา
1.3 อาการปวดหลังหรืออาการคล้ายๆ กับมีอะไรหลุดออกมาจากช่องคลอด หรือตุงอยู่ที่ช่องคลอด มักจะมีอาการปวดหลังเมื่อกำลังยืนหรือกำลังทำงาน แต่อาการปวดนี้จะลดลงหรือหายไป เมื่อหยุดทำงานหรือได้นอนพักผ่อน
1.4 ตกขาว อาจมีตกขาวลักษณะคล้ายหนองหรือมีเลือดปน เช่น ในรายที่มีแผลจากการเสียดสี เกิดร่วมกับการมีมดลูกโผล่พ้นจากช่องคลอด ซึ่งเป็นผลมาจากต่อมของปากมดลูกมีการทำงานมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการคั่งของเลือดในเนื้อเยื่อ
1.5 ถ่ายอุจจาระลำบาก ในรายที่มีการหย่อนย้อยของลำไส้ตรงโป่งเข้าไปในช่องคลอด และมีขนาดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยท้องผูกหรือถ่ายอุจจาระไม่ค่อยสะดวกอาจต้องใช้นิ้วมือช่วยดันลำไส้ตรงที่โป่งเข้าไปในช่องคลอด เพื่อให้ถ่ายอุจจาระได้สะดวกขึ้น
2. อาการที่เกี่ยวกับการถ่ายปัสสาวะ
2.1 ถ่ายปัสสาวะบ่อย เป็นผลจาก
2.1.1 มีการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ
2.1.2 ปัสสาวะเหลือค้างอยู่มากเช่น ในรายที่มีการโป่งของกระเพาะปัสสาวะเข้าไปในผนังช่องคลอด
2.2 กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือปัสสาวะเล็ดออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ (urinary incontinence) ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติของหน้าที่ของกล้ามเนื้อบริเวณหัวหน่าว หรือบริเวณกระเพาะปัสสาวะ การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อาจเกิดร่วมกับการถ่ายปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในรายที่มีกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วย
การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในขณะที่มีการเพิ่มความดันในช่องท้องทันทีทันใด (stress incontinence) เช่น ขณะจาม ไอ หัวเราะ ตีเทนนิส หรือตีกอล์ฟนั้น ส่วนมากผ่านการคลอดบุตรมาหลายครั้ง จนมีการฉีกขาด ยืดหย่อนของอวัยวะที่ช่วยยึดพยุงท่อปัสสาวะส่วนต้น เป็นเหตุให้ท่อปัสสาวะจึงเล็ดออกมาได้ มักเกิดในผู้ป่วยที่มีภาวะผนังช่องคลอดด้านหน้าหย่อนร่วมด้วย เมื่อเป็นนาน ๆ ปัสสาวะจะเปียกชื้นบริเวณรอบปากช่องคลอด ทำให้คัน เป็นแผล
สตรีทั่วไปมีปัญหาเกี่ยวกับการกลั้นปัสสาวะในระดับหนึ่ง ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต มีมากถึงร้อยละ 30
2.3 ปัสสาวะคั่ง ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะเหลือค้างอยู่มาก ในรายที่มีการโป่งของกระเพาะปัสสาวะเข้าไปในผนังช่องคลอดขนาดใหญ่ แต่ไม่มีการหย่อนของท่อปัสสาวะ ผู้ป่วยจะไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้หมด แต่ถ้าผู้ป่วยได้พักผ่อนหรือใช้นิ้วช่วยดัน ก็อาจจะถ่ายปัสสาวะได้เป็นปกติ เมื่อมีปัสสาวะเหลือค้างอยู่มาก ก็มีโอกาสเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
เครดิตภาพ Victoria Secret
การตรวจและการวินิจฉัย
การวินิจฉัยชนิดของกะบังลมหย่อนในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุและชนิดของภาวะยื่น ปลิ้นที่ตรวจพบ ความบกพร่องทางลักษณะกายวิภาคของบริเวณกระเพาะปัสสาวะต่อกับท่อปัสสาวะ อาจมีได้หลายรูปแบบและการรักษาก็จะแตกต่างกันไป การวินิจฉัยได้ถูกต้องจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าฝีมือการผ่าตัด
โดยทั่วไปแกนของมดลูกจะสัมพันธ์กับปากมดลูกในแบบเอียงมาด้านหน้า หรือเอียงไปด้านหลัง โดยพบได้ร้อยละ 80 และร้อยละ 20 ตามลำดับ ในภาวะปกติตำแหน่งของมดลูกสามารถขยับได้เล็กน้อย ตามแต่การเอียงของกระดูกเชิงกรานในขณะนั่งเดิน หรือนอน ในสัตว์ทั่วไปจะพบว่าแกนของปากมดลูกมักชี้ไปทางด้านหลังของช่องคลอด ในลักษณะทำมุมตั้งฉากกับแกนของช่องคลอด มดลูกหย่อนมัก
สัมพันธ์กับมดลูกที่คว่ำหลัง (retroversion) การตรวจภายในด้วยเครื่องถ่างช่องคลอด ในสตรีที่มีมดลูกคว่ำหลัง จะพบว่าปากมดลูกจะชี้ไปด้านหน้าของช่องคลอด แทนที่จะชี้ไปด้านหลังเช่นในภาวะปกติ ในการตรวจดูบริเวณช่องคลอดและปากช่องคลอดจะมีการยื่น ปลิ้น ของอวัยวะชัดเจน หรือมีการหย่อนสมรรถภาพของฝีเย็บ โดยใช้นิ้วมือ 2 นิ้ว สอดเข้าไปในช่องคลอด กดผนังช่องคลอดและฝีเย็บ แล้วลองให้ผู้ป่วยไอพบว่ากระเพาะปัสสาวะมีการโป่งพองเข้าไปในผนังช่องคลอด หรือพบท่อปัสสาวะมีการโป่งพองย้อยเข้าไปในช่องคลอด หรือพบภาวะทั้งสองอย่างรวมกัน ผู้ป่วยอาจมีปัสสาวะเล็ดออกมาเมื่อผู้ป่วยไอ หรือตรวจพบว่าผนังช่องคลอดด้านหลังห้อยย้อยลงมาเมื่อให้ผู้ป่วยเบ่ง เมื่อผู้ตรวจใส่นิ้วเข้าไปในช่องคลอดและช่องทวารหนักพร้อมกัน ก็พบว่ามีการอ่อนแรงของผนังกั้นของทวารหนักและช่องคลอด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีริดสีดวงทวาร (hemorrhoid) ด้วย
ความบกพร่องที่บริเวณฐานคอกระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะส่วนต้นทำให้มีการคดงอของบริเวณแนวต่อระหว่างท่อปัสสาวะกับกระเพาะปัสสาวะ การเปรียบเทียบความดันภายในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ระหว่างคนปกติกับคนที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ขณะที่มีการเพิ่มความดันในช่องท้องทันทีทันใด พบว่าในคนปกติความดันในท่อปัสสาวะส่วนต้นจะเท่ากันหรือมากกว่าความดันในกระเพาะปัสสาวะ แต่ถ้าเพิ่มความดันในช่องท้องทันทีทันใดเช่น ไอ หรือจาม ความดันจะเพิ่มทุกแห่งเท่า ๆ กัน หมายถึงความดันในท่อปัสสาวะก็ยังสูงกว่าในกระเพาะปัสสาวะธรรมชาติเช่นนี้ปัสสาวะจะผ่านออกไปไม่ได้ ในคนที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ขณะที่มีการเพิ่มความดันในช่องท้องทันทีทันใดนั้น ขณะอยู่เฉย ๆ ความดันในท่อปัสสาวะก็ยังสูงกว่าในกระเพาะปัสสาวะเช่นกัน แต่พอให้ไอ หรือจาม ความดันในกระเพาะปัสสาวะกลับสูงกว่าในท่อปัสสาวะ
การตรวจภายใน
การตรวจจำเป็นต้องใช้เครื่องถ่างตรวจ (speculum) ช่วยถ่างขยาย จะช่วยให้เห็นระดับปากมดลูก และเห็นระดับของการยื่นปลิ้นได้ดีขึ้น ในรายที่มีการหย่อนย้อยของลำไส้ตรงเข้าไปในช่องคลอด ขณะใช้เครื่องถ่าง ตรวจถ่างช่องคลอด เมื่อถอยเครื่องถ่างตรวจออกมาจะเห็นการหย่อนย้อยของลำไส้ตรงโป่งเข้าไปในช่องคลอดชัดเจน และอาจตรวจพบอาการอื่นดังนี้
1. อาจจะพบ ท่อปัสสาวะหย่อน และกระเพาะปัสสาวะหย่อนร่วมด้วยในบางราย
2. ให้ขมิบก้น ถ้าปกติบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะจะสูงขึ้น ถ้าไม่สูงขึ้น แสดงถึงมีจุดอ่อนแอ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้
3. ใช้การทดสอบของ บอนนี่ – รีด – มาร์เชตติ (Bonney-Read-Marchetti) เป็นการทดสอบง่าย ๆ ให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้ถ่ายปัสสาวะมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง นอนท่าชันเข่า แล้วให้ผู้ป่วยไอหรือจาม จะมีปัสสาวะเล็ดออกมา ต่อไปใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางดันรอบๆ ท่อปัสสาวะบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะขึ้นแล้วให้ไออีกถ้าเป็น ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ชนิดที่ความดันในกระเพาะปัสสาวะสูงกว่าความดันในท่อปัสสาวะ ปัสสาวะจะไม่เล็ด
4. ลักษณะการอักเสบของท่อปัสสาวะและช่องคลอด ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะได้ได้
การวินิจฉัยแยกโรค
การวินิจฉัยแยกโรค ค่อนข้างแยกออกจากโรคอื่นได้อย่างชัดเจน ซึ่งควรแยกจาก
1. ถุงน้ำที่มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณช่องคลอด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับมีการโป่งพองของกระเพาะปัสสาวะเข้าไปในผนังช่องคลอด
2. ก้อนเนื้องอกที่ช่องคลอด หรือเนื้องอกอื่น ๆ ในช่องคลอดที่โผล่พ้นปากช่องคลอดออกมาเมื่อผู้ป่วยเบ่ง เช่น เนื้องอกที่คอมดลูก เป็นต้น
3. ก้อนเนื้องอกของมดลูกและปากมดลูก (soft myoma) และก้อนอุจจาระที่อุดแน่น
4. ก้อนที่ปีกมดลูกที่ย้อยลงมาในช่องคลอด
5. มดลูกที่คว่ำหลังมาก ๆ
6. ภาวะที่ปากมดลูกมีการขยายตัวโตผิดปกติ
7. การยื่นปลิ้นของท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ
8. หลอดโลหิตโป่งขดหรือขอดบริเวณช่องคลอด ริดสีดวงทวาร และการยื่นปลิ้นของทวารหนัก
การรักษา
การรักษาแบ่งเป็นหลักใหญ่ 3 อย่าง คือ
1. การป้องกัน การให้คำแนะนำแก่สตรีมีครรภ์ และการช่วยคลอดที่ถูกต้องจะช่วยลดภาวะของการยื่นปลิ้นของอวัยวะได้มาก
1.1 ระยะมีครรภ์ เมื่อผู้ป่วยมาฝากครรภ์ ควรให้คำแนะนำเกี่ยวกับ การรักษาสุขภาพ การบริหารร่างกายทั้งก่อนและหลังคลอด
1.2 ระยะคลอดบุตร การช่วยเหลือระยะที่สองของการคลอดบุตรมีความสำคัญมาก เช่น อย่าปล่อยให้ระยะที่สองนานเกินไป การช่วยตัดฝีเย็บให้กว้างพอ การใช้เครื่องดูดหรือคีมช่วยคลอดอย่างถูกวิธี การช่วยคลอดรกโดยไม่ใช้มือเค้นหรือบีบมดลูกอย่างรุนแรง รวมทั้งการเย็บซ่อมฝีเย็บอย่างถูกวิธี จะช่วยลดการเกิดภาวะยื่นปลิ้นได้มาก
1.3 ระยะหลังคลอดบุตร พยายามให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหว เช่น ลุกขึ้น หรือเดินโดยเร็วที่สุด มีการพักผ่อนที่เพียงพอภายหลังการคลอดไม่ให้ออกกำลังหรือทำงานที่ต้องใช้แรงมากเกินไป ให้มีการบริหารร่างกายภายหลังคลอดโดยเฉพาะในระยะ 6 เดือนแรก แนะนำให้ผู้ป่วยเว้นระยะการมีครรภ์ต่อไปให้ห่างกันพอควร
1.4 ในผู้ป่วยวัยหมดระดู ควรให้เอสโตรเจนเพื่อช่วยเพิ่มเลือดให้มาเลี้ยงอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ป้องกันการเกิดภาวะหย่อนยานของช่องคลอดได้
2. การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด
2.1 การบริหารกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยการฝึกออกกำลังกายกระชับกล้ามเนื้อแบบคีเจล (Kegel isotonic exercise) โดยการขมิบช่องคลอดทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน (pubococcygeus muscle) ควรทำทุกรายในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอด จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานแข็งแรงขึ้น โดยทั่วไปแนะนำให้ทำวันละ 150-200 ครั้ง ประมาณร้อยละ 15-30 ของผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นมาก และร้อยละ 30-40 จะดีขึ้นบ้าง แต่ถ้าไม่ออกกำลังกายดังกล่าวหรือทำน้อยลง ผลก็จะไม่ค่อยดีนัก
หากว่าสาเหตุของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เกิดจากการห่อเหี่ยวของอวัยวะสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะ จากการขาดฮอร์โมนเพศในวัยหมดระดู การให้ฮอร์โมนเพศทดแทนจะช่วยทำให้อาการดีขึ้นร้อยละ 10-30 นอกจากนี้ยังมีวิธีการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อเพื่อกดผนังท่อปัสสาวะให้รูตีบลง ทำให้ปัสสาวะไหลออกช้าลง
2.2 รักษาภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง โดยให้เวลาผู้ป่วยแก้ไขข้อบกพร่องทางร่างกาย บางประการ เช่น ลดความอ้วน งดบุหรี่รักษาอาการไอเรื้อรัง ถ้าภาวะดังกล่าวได้รับการรักษาให้ดีขึ้นแล้ว อาการต่าง ๆ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่อาจดีขึ้น
3. การรักษาโดยวิธีผ่าตัด ชนิดของการผ่าตัดรักษาขึ้นอยู่กับอาการแสดง และสิ่งที่ตรวจพบ จะทำการผ่าตัดเฉพาะในรายที่มีอาการจริง ๆ เท่านั้น ต้องคำนึงถึงอายุของผู้ป่วย ความสัมพันธ์ทางเพศ และความต้องการของผู้ป่วยที่จะมีบุตรเพิ่มด้วย
ชนิดของการผ่าตัดรักษาจำแนกได้ ดังนี้
3.1 การหย่อนย้อยของช่องคลอด และกระเพาะปัสสาวะมีการโป่งพองเข้าไปในผนังช่องคลอด หรือมีการเคลื่อนตัวของลำไส้ตรงโป่งเข้าไปในช่องคลอด หรือมีภาวะดังกล่าวร่วมกันโดยที่มดลูกไม่ได้เคลื่อนต่ำลงมาด้วย รักษาโดยทำผ่าตัดเย็บผนังช่องคลอดส่วนหน้าให้แคบลง หรือโดยทำผ่าตัดเย็บผนังช่องคลอดส่วนหลังและฝีเย็บที่ฉีกขาด
3.2 การหย่อนย้อยของช่องคลอดร่วมกับมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ รักษาโดยการทำผ่าตัดเย็บผนังช่องคลอดส่วนหน้าและส่วนหลังให้แคบลง
3.3 ในภาวะที่มีภาวะลำไส้เลื่อนเข้าไปในส่วนท้ายของช่องคลอด รักษาโดยการทำผ่าตัดเย็บผนังช่องคลอดส่วนหลังให้แคบลง
3.4 ในผู้ป่วยที่มีมดลูกโผล่พ้นช่องคลอดมา พร้อมกับมีการปลิ้นของผนังช่องคลอด รักษาโดยการตัดมดลูกออกทางช่องคลอด (vaginal hysterectomy) ร่วมกับทำผ่าตัดเย็บผนังช่องคลอดส่วนหน้าและส่วนหลังให้แคบลง
3.5 การผ่าตัดเย็บปิดช่องคลอด เนื่องจากมดลูกหรือผนังมดลูกยื่นปลิ้น มักใช้ในผู้ป่วยที่มีสภาพไม่เหมาะต่อการผ่าตัดใหญ่
3.6 การผ่าตัดเอาคอมดลูกที่ยื่นลงมาในช่องคลอด ร่วมกับการเย็บช่องคลอดใช้ในรายที่คอมดลูกยาวหรือในอุ้งเชิงกรานมีพยาธิสภาพมากจนไม่อาจตัดเอามดลูกออกได้
3.7 ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นการผ่าตัดเหมือนการผ่าตัดไส้เลื่อนทั่วไป ที่ตัดเอาถุงที่ห้อยย้อยออก ใช้ในรายที่มีภาวะการยื่นห้อยของลำไส้เป็นถุงลงมาในช่องคลอด ซึ่งมีส่วนของลำไส้เล็กบรรจุอยู่
ภาวะแทรกซ้อน
1. ขณะทำผ่าตัดอาจเกิดอันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียง เช่น หลอดปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ หลอดไต หรือทวารหนัก ถ้าไม่ทราบแล้วปล่อยทิ้งไว้อาจอักเสบเป็นหนอง หรือเป็นรูทะลุได้
2. เลือดออก อาจเกิดระหว่างการผ่าตัดหรือระยะหลังผ่าตัดไม่นาน ซึ่งอาจเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ภายหลังได้ เพราะฉะนั้นการจับจุดเลือดออกขณะทำการผ่าตัดจึงสำคัญมาก
3. เป็นลมหลังผ่าตัด เนื่องจากความดันโลหิตต่ำ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นบ่อยหลังผ่าตัดใหม่ ๆ ต้องแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกซ่อนอยู่โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาจเกิดจากยาระงับความรู้สึก
4. หลังการผ่าตัดมักต้องสวนคาสายสวนปัสสาวะไว้ หลังถอดสายสวนปัสสาวะออกแล้วมักมีการคั่งของปัสสาวะ อาจเกิดจากระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ จึงควรให้ยาปฏิชีวนะหลังการผ่าตัดเสมอ
5. หลังการผ่าตัดอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวการณ์กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ถ้าไม่เย็บบริเวณคอ กระเพาะปัสสาวะให้ดี
6. ภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน อาจเกิดเพราะจับจุดเลือดออกไม่หมดขณะผ่าตัดทำให้บวมเลือด ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค จนทำให้มีหนองบริเวณรอยเย็บได้
7. มีอาการเจ็บปวดเมื่อร่วมประเวณี หรือมีการร่วมประเวณีได้ยาก เกิดเพราะเย็บช่องคลอดแคบไป ส่วนใหญ่มักจะแคบตรงบริเวณปากช่องคลอด ต้องแก้ไขด้วยการขยายออก
8. การกลับเป็นอีก มักเป็นผลจากข้อบกพร่องของการผ่าตัดรักษาครั้งแรกหรือเป็นซ้ำในรายผู้ป่วยมีอาการไอเรื้อรัง อ้วนเกินไป ซึ่งไม่ได้รับการรักษาให้ดีก่อนการผ่าตัด
9. ปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
10. ปัสสาวะไม่ออกหลังผ่าตัด
11. นิ่วในกระเพาะปัสสาวะจากการที่วัสดุเย็บค้างอยู่ในเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ
“เซ็กซ์ดีได้ด้วยการทำรีแพร์จริงหรือ ?”
ส่วน ในเรื่องความเข้าใจที่ว่า การทำรีแพร์เพื่อให้ช่องคลอดกระชับขึ้นนี้ สามารถช่วยเพิ่มความรู้สึกพึงพอใจทางเพศได้นั้น รศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร ให้ความเห็นว่า “อาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะสาเหตุของของความไม่สุขสมทางเพศนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากเรื่องทางร่างกาย แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของคู่รักมากกว่า อารมณ์ความรู้สึกที่ของการใช้ชีวิตร่วมกันช่วงนั้น”
การ ทำรีแพร์ปัจจุบันนี้ลดลงไปมากเพราะเนื่องจากวิธีการคลอดที่ทันสมัย การดูแลของทีมงานและแพทย์ดี จึงทำให้ใช้เวลาในการคลอดน้อยลง ทั้งหลังการคลอดยังมีการดูแลตัวเองเรื่องนี้เพื่อให้กลับคืนสู่ปกติได้เร็ว ขึ้น โดยเฉพาะการฝึกขมิบ และการดูแลตัวเองตามคำแนะนำแพทย์
ฉะนั้นคุณแม่บางคนที่คิดจะทำรีแพร์หลังคลอดลูกเลยนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้แนะว่าไม่ควรทำ เพราะเราสามารถรอเวลาดูว่าผนังช่องคลอดนั้นสามารถกลับเข้าที่ได้มากน้อยแค่ ไหน บางทีมันสามารถคืนสู่สภาพเดิมได้ก็จะเป็นการฝืนธรรมชาติไปซะ เกินความจำเป็น แถมยังเจ็บตัวและเสียเงินเปล่าๆ ด้วย
บทความนี้มาจาก Knowledge Tank
http://www.vajira.ac.th/kt
URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.vajira.ac.th/kt/modules.php?name=News&file=article&sid=171